อยู่แห่งไหน อย่าได้ลืม../..อย่าลืม ...บาง...เลน
จากเสียงเพลงมาร์ช อยู่ แห่งไหน อย่าได้ลืม อย่าลืมบางเลน บางเลนวันนี้กับเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนแตกต่างกันอย่างมากมาย บ้านเมืองขยายเขตจากสุขาภิบาลเป็นเทศบาลและครอบคุมพื้นที่กว้างออกไป มี บ้านใหม่ๆมาปลูกมากขึ้นและตึกอาคารร้านค้าพาณิชย์ใหม่ๆหลายแห่งก็กระจายวง กว้างออกจากอดีตเดินไปไหนก็รู้จักกันหมดว่าบ้านใครพ่อแม่ชื่ออะไร เพราะนิยมเรียกชื่อพ่อแม่เพื่อนแทนชื่อเพื่อนนั่นเอง แต่ปัจจุบันเป็นสังคมเมืองใหม่ คนเริ่มไม่ค่อยรู้จักกัน มีคนต่างถิ่นโยกย้ายกันเข้ามามากมาย จนจำกันไม่ค่อยได้ รองรับด้วยถนนตัด ใหม่หลายเส้น จึงเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของประชาชนแต่เดิมระหว่างตำบลและหมู่บ้านใกล้เคียงจะ เดินทางด้วยเรือทั้งใช้เครื่องยนต์ และไม่ใช้เครื่องยนต์แล้วแต่ฐานะ ทั้งขนส่งคนและสิ่งของ บรรทุกข้าวเปลือกข้าวสารด้วยเรือต่างขนาดต่างชนิด แต่วันนี้แม่น้ำและลำคลองเงียบสงบไม่มีเรือให้เห็นกวักไขว่ดังเช่นแต่ก่อน คนที่บ้านอยู่ริมน้ำก็จะดูสงบขึ้นไม่มีเสียงคำรามมารบกวนใจจากเครื่องยนต์4 สูบหรือ6 สูบที่ถอดจากรถยนต์มาใส่เรือในยุคนั้นและกระหน่ำกันเต็มๆสูบ ชนิดไม่รู้จักว่าท่อเก็บเสียงเป็นอย่างไร เพราะอู่ไหนใส่ท่อเก็บเสียงก็จะกลายเป็นว่าไม่เจ๋ง คนนิยมอู่ที่ทำเครื่องให้เสียงดังมากกว่าให้เรือวิ่งเร็ว
สายน้ำที่เคยมีขึ้นมีลง เคยมีกระแสน้ำเชี่ยวในฤดูฝนที่น้ำจากเหนือจะไหลผ่านบางเลนไปสู่ทะเลที่มหาชัย แต่หลังจากมีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำหลายเขื่อนที่เมืองกาญจน์และชัยนาท มีการขุดคลองเบี่ยงน้ำ(ส่งน้ำ)แบบ By pass ทำให้แม่น้ำท่าจีนสายหลักของบางเลน ได้ไหลช้าลงกลายเป็นไหลเอื่อยๆแทบไม่เห็นกระแสน้ำ ยิ่งถ้าไม่ใช่ฤดูฝนแล้วน้ำจะนิ่งมากๆ ยิ่งไม่มีเรือวิ่งเรือพายด้วยแล้วไม่ต่างไปกว่าน้ำในบ่อบัวหน้าที่บ้านจริงๆ ที่น่ากลัวคือสักวันแม่น้ำมันจะตื้นเขิน เนื่องจากดินโคลนที่มากับน้ำนั้นจะตกตะกอนสะสมมากๆขึ้นทุกวัน ทำให้นึกถึงคำว่าน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เสือและป่าก็หมดไปนานแล้ว เรือก็หมดการใช้งานรอน้ำที่จะตื้นเขินและแห้งหายตามไป เมื่อคราวเป็นเด็กได้อาศัยอาหารโปรตีนคือปลาจากแม่น้ำแห่งนี้ ได้เลี้ยงชีวิตมาได้ด้วยดี การหาปลาและการจับปลาก็แสนง่ายไม่ว่าจะจับด้วยมือหรือตกด้วยเบ็ดก็ทำได้ง่ายๆ ยิ่งบางคนใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่เช่น แห อวน ตาข่าย ลอบเฝือกและจั่น ก็จับได้มากมายขนาดเอาไปขายได้เป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ตลอดปี เพราะมีปลามีกุ้งให้จับกินกันไม่รู้จบ
แต่บางเลนวันนี้ผมเคยไปย้อนรำลึกโดยการนั่งตกปลา ประมาณ 2-3 ชั่วโมงไม่มีปลาแม้จะมาตอดเหยื่อ โยนอาหารทิ้งยังไม่มีปลาซิวจะมากิน มันเกิดอะไร ความจริงก็คือหลังจากโรงงานหีบอ้อยทำน้ำตาล โรง งานเยื่อกระดาษมาตั้งเมื่อสามสิบปีก่อน ครั้งแรกๆเริ่มต้นไม่มีการควบคุมการปล่อยน้ำเสีย จนได้เกิดเหตุทำน้ำเสียเน่าเหม็นทั้งแม่น้ำจนปลาตายหมดและสูญพันธ์ไปในที่ สุด ทุกวันนี้แม้นแก้ปัญหาน้ำเสียในแม่น้ำได้แล้วแต่ก็ยังไม่มีปลากลับมาสักที งานนี้คงต้องรอให้พระเจ้าประทานปลามาให้พร้อมกับอาดัมและอิวา(อิ๊ฟ)คู่ใหม่ ซะแน่แท้ ย้อนกลับไปดูท้องนาท้องไร่ก็ยังเป็นอาชีพหลักของประชากรบางเลน แต่เปลี่ยนจากนาข้าวไปเป็นนากุ้งและบ่อปลากันมากขึ้น มีสวนผลไม้และไร่ผักกระจัดกระจายแต่ก็ทำเป็นรูปแบบเกษตรสมัยใหม่ มีการนำเอาอุปกรณ์เครื่องจักรมาใช้อย่างกว้างขวาง เช่นรถไถ รถเกี่ยว รถดำนา เรียกว่าชาวนาแทบไม่ต้องแตะดินอีกแล้ว ตั้งแต่ปลูกจนได้ข้าวเปลือกบรรจุกระสอบได้ในแปลงนา ทำให้ลดการเสียหาย ลดเวลาเพาะปลูก จนเห็นว่ามีการทำนาปลูกข้าวได้ปีละ 4 ครั้ง จากที่เคยฮือฮาว่าบางเลนทำนาได้ปีละสองครั้งเมื่อสี่สิบปีก่อน วันนี้สามารถวิจัยพันธ์ข้าวให้อายุข้าวสั้นลงแค่สามเดือน ต้นข้าวก็ไม่สูงเท่าเก่า จากเคยสูงท่วมหัวเหลือสูงแค่เข่าก็ออกรวงแล้ว เดิมชาวนาจะเกี่ยวด้วยมือและหาบจากนามาลานนวด นวดเสร็จได้แต่ฟางมีข้าวเพียงนิดหน่อย แต่วันนี้รถเกี่ยวข้าวสามารถนวดเสร็จได้ข้าวเปลือกบรรจุกระสอบทันที
การเกี่ยวข้าวก็ไม่ต้องรอให้ข้าวสุกแห้งเต็มทีเช่นก่อน แค่เพียงข้าวออกรวงพอสีเหลืองๆก็เก็บเกี่ยวได้แล้วทำให้ลดการหลุดร่วงของรวงข้าว นกหนูที่รอกินข้าวเปลือกฟรีๆก็ต้องอดไปตามๆกัน แถมไม่มีตกหล่นตามคันนาให้เห็นอีกต่อไป สมัยเด็กๆจะเห็นชาวนาแบกมัดข้าวด้วยคานหาม ที่เรียกว่าหาบข้าวเดินจากนาไปยังลานนวดข้าวเดินกันเป็นกิโล(กม)เลย ก็ไม่รู้ว่าทำไมคิดไม่ได้ถึงขนาดมีคำสุภาษิต บ้าหอบฟางไว้สอนลูกหลานถึงวันนี้ ผมไม่ใช่ลูกชาวนาแต่ก็พลอยได้ข้าวเปลือกมาเลี้ยงไก่ก็อาศัยข้าวตกนี่แหละ ข้าวตกคือข้าวที่ตกจากมัดหรือร่วงจากเคียวเกี่ยว สามารถเก็บได้โดยถูกกฏหมายเพราะไม่ได้ไปขโมยข้าวของใครเขา เป็น ธรรมเนียมที่ชาวนาจะยกให้ใครๆก็ได้มาเก็บข้าวตกที่อยากได้เพราะไม่ต้องการ ให้แม่โพสพที่ชาวนานับถือต้องมาถูกเหยียบย่ำเน่าเสียไปอย่างไร้ค่า ผมถึงได้เลี้ยงไก่ด้วยข้าวตกนี่แหละ ได้ไก่ไว้กินไว้ขายหลายตัวชนิดมียุ้งเล็กๆ(ใส่กระสอบ)ด้วยมีข้าวตกไว้ใช้ได้หลายเดือน
จาก นาข้าวก็นากุ้งนี่แหละที่อยากจะพูดถึง เดี่ยวนี้เขายกทะเลมาไว้ที่บางเลนแล้ว มีการเลี้ยงกุ้งน้ำเค็ม(กุ้งทะเล)กันอย่างแพร่หลายและร่ำรวยกันทุกบ้าน โดยการเอาน้ำขม(น้ำทะเลเข้มข้นจากนาเกลือก่อนที่จะแข็งเป็นเกลือเพราะง่าย ต่อการขนส่ง)มาผสมกับน้ำจืดให้เจือจางตามถ.พ.ที่ต้องการของกุ้ง นำมาใส่ในบ่อคือพื้นนาเดิมๆโดยยกคันนาให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำเค็มรั่วไหล ไปตีกับนาข้าว มิฉะนั้นเจ้าของนากุ้งกับนาข้าวจะตีกันตายซะก่อนเพราะหาข้อยุติไม่ได้ว่าใคร ถูกใครผิด เหมือนเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองที่แข่งกันแต่สุดท้ายก็แพ้เสื้อสูทที่ขี่คอ เสื้อเขียวเสื้อพรางเอาข้าวไปกิน ถึงแม้นอะไรๆจะเปลี่ยนไปแต่ที่ไม่เปลี่ยนก็คือบางเลนยังเป็นแหล่งผลิตอาหาร เลี้ยงประชากรอยู่เช่นเดิม โล่ห์และถ้วยรางวัลไม่เคยมีจากภาครัฐ ทั้งๆที่ผมอยากจะขอให้เห็นคุณค่าของชาวนาไทย ขอให้ภาครัฐคิดตอบแทน ส่งเสริมอย่างจริงจัง โดยการแจกแทรคเตอร์แจกรถทำนาให้กับเขาบ้างอย่างน้อยเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบ แทนไม่ไร้ค่า รถไถนาคงไม่นำไปใช้ไล่ทับประชาชนที่หน้ารัฐสภาได้เหมือนรถถัง ที่ผู้มีอำนาจขยันจะของบประมาณมาซื้อมาสะสมทั้งๆที่ รถถังหนึ่งคันสามารถซื้อรถไถนาได้ห้าร้อยถึงพันคัน แต่กลับซื้อรถถังแล้วสุดท้ายเอาไปถมทะเลแค่อ้างว่าเพื่อสร้างปะการังเทียม ให้ปลา สมจริงๆที่หัวได้สวมหมวกมานาน ถ้าคิดว่าถ้าเอาเหล็กไปรีไซเคิ้ล ยังได้เงินมาสร้างปะการังเทียมได้มากกว่าหลายสิบเท่าและก็ทำได้ง่ายกว่ามาก มายที่จะขนรถถังหนักคันละ 30-40ตัน ไปทิ้งลงทะเล เรื่องนี้ตาแป๊ะขายขวดยังคิดได้ แต่พวกผู้นำที่ลักชาติคิดไม่ออกซะงั้น ขอจบไว้ตรงนี้ก่อนแล้วจะมาเพิ่มสีสรรให้เห็นว่าทั้งคนและพื้นดินภายใต้แผ่นฟ้าที่เรียกว่าบางเลนเป็นเช่นไร ตอนที่1 : โยกย้าย
สถานที่ราชการต่างๆที่บางเลนได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่ตั้งแห่งใหม่ เกือบทุกสถานที่ยกเว้นที่ทำการไปรษณีย์และสถานีอนามัยเท่านั้นที่ยังคงอยู่ที่เดิม เริ่มจากที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจจากเดิมอยู่ติดริมแม่น้ำท่าจีนปัจจุบันที่ตั้งเดิมกลายเป็นตลาดไปหมดแล้วไม่ทิ้งสภาพเดิมให้คนรุ่นหลังได้รู้ถึงอดีตอีกเลย ที่ตั้งใหม่ของอำเภอและโรงพักอาจจะไม่ต้องบอกถ้าผู้อ่านมาบางเลนก็รู้ว่า ก็ที่มันตั้งอยุ่ปัจจุบันนี่งัยล่ะ แต่คนที่ไม่ได้มีโอกาสมาเห็นสถานที่จริงก็ต้องอยากรู้ว่ามันอยู่ที่ไหน? ถ้าจำได้ว่าสามแยกที่เลยไปจะเป็นที่ตั้งของไปรษณีย์ตรงนั้นคนบางเลนเดิมจะเรียกว่าสามแยกเฒ่าแก่เคี้ยง เพราะเป็นสามแยกที่ออกไปจากตัวตลาดและมีบ้านเพียงหลังเดียวตรงมุมสามแยกนั้นเป็นถนนสายพลดำริห์ที่มาจากกำแพงแสนและตัวจังหวัดนครปฐม บ้านหลังนั้นเจ้าของคือเฒ่าแก้เคี้ยงเป็นร้านค้าขายข้าวสารร้านใหญ่ที่สุดใหญ่สมกับคำว่าเฒ่าแก่นั่นแหละ ต้องขออนุญาตลูกหลานท่านด้วยที่ต้องเอาชื่อมากล่าวอ้างอิงเพื่อให้เป็นที่เข้าใจกัน ลูกของเฒ่าแก่เคี้ยงก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับผมมาถึงสองคนเรียนหนังสือกันมาตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถมปลาย (ป7) หลังจากนั้นด้วยฐานะที่ต่างกันผมก็เรียนต่อโรงเรียนในอำเภอคือบางเลนวิทยานั่นเองตามแบบลูกชาวบ้านชาวนาทั่วๆไป แต่ลูกหลานคนรวยก็จะส่งให้ไปเรียนในเมืองคือตัวจังหวัดนครปฐมหรือไม่ก็ในกรุงเทพเป็นที่นิยมกันสำหรับคนที่มองการไกล ห่างจากสามแยกนั้นไปทางกำแพงแสนประมาณ 800 เมตร คือที่ตั้งของสถานีตำรวจและที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่ซึ่งอยู่คู่กันเพราะต้องการให้ตำรวจได้เฝ้าอารักขาที่ว่าการอำเภอไปด้วย(คิดเอง) และก็อยู่มาจนทุกวันนี้ ที่ตั้งแห่งใหม่กว้างขวางด้วยอาคารหลังใหม่มีพื้นที่ใช้สอยมากมายและยังมีที่ดินว่างไว้สำหรับสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ได้อีกในอนาคต นับว่าเหมาะสมอย่างยิ่งกับการเลือกที่ตั้งและขยายพื้นที่ไว้รองรับ อีกแห่งคือโรงเรียนบ้านบางเลนวิทยาคารหลังเดิมซึ่งอยู่ติดกับหลังที่ทำการตำรวจเดิมนั้นปัจจุบันถูกรื้อถอนไปหมดแล้วพื้นที่เดิมก็ถมสูงเป็นลานปูนซีเมนต์ ทำเป็นลานกีฬา อาคารเรียนเดิมเป็นไม้สองขั้นและนับว่าเป็นอาคารไม้ที่ใหญ่ที่สุดตอนนั้นแต่ด้วยอายุและระยะเวลาการใช้งานมานาน ก็ผุพังและทางโรงเรียนก็ไม่สะดวกที่จะดูแลทั้งสองที่ จึงย้ายไปเรียนไปสอนกันที่แห่งใหม่เพียงที่เดียวซึ่งห่างจากสามแยกเฒ่าแก่เคี้ยงไปทางโรงเรียนบางเลนวิทยาประมาณ 600 เมตรจากที่ทำการไปรษณีย์ ซึ่งเป็นหลักมุดดั้งเดิมนั่นเอง ปัจจุบันโรงเรียนบ้านบางเลนวิทยาคารก็ได้เปลี่ยนหลักสูตรการสอนเป็นระดับประถม 6 ปี คือ ป1 ถึง ป 6 โรงเรียนแห่งนี้ก็ได้ขยายจำนวนห้องเรียนมีอาคารเรียนมากขึ้นและที่จะอดกล่าวถึงไม่ได้คือ หลวงพ่อกิตติวุฒโฑ เจ้าสำนัก จิตตภาวัน (เสียชีวิตไปแล้ว) ท่านก็เป็นคนบางเลนเด็กบางเลนคือเกิดและโตที่บางเลน เมื่อท่านมีโอกาสแม้นในสถานะเป็นพระภิกษุสงฆ์ ท่านยังได้หาเงินปัจจัยซึ่งบริจาคมาจากผู้ที่มีจิตศรัทธาในบุญบารมีของท่าน มาทนุบำรุงและสร้างสถานที่ราชการที่อำเภอบางเลนอย่างมากมายเช่น สร้างอาคารเรียนให้กับโรงเรียนบ้านบางเลนวิทยาคาร ซ่อมแซมอุโบสถและศาลาวัดใหม่(วัดผาสุกการาม)คือวัดที่ติดกับโรงเรียนบางเลน(ครูมาก อินทร์ใหญ่) สร้างโรงพยาบาล และอาจมีอื่นๆ อีกที่ผมไม่อาจทราบได้ ต้องขอกราบคารวะในความดี ความมีเมตตาของท่านและนับถือในความมีกตัญญูต่อบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งการกระทำนี้ดีกว่าคำพูดว่ารักชาติรักบ้านเมืองเป็นร้อยเท่าและผมเองก็ไม่ทราบว่าท่านเคยกล่าวตำว่ารักชาติรักบ้านเมืองหรือป่าว ? แต่ที่ได้ยินได้ฟังแน่ๆคือข้อกล่าวหาจากฝ่ายรัฐบาลและทหารในยุคนั้นว่าท่านกิตติวุฒโฑเป็นคอมมูนิสต์ ขนาดพยายามจับกุมท่าน และใช้อำนาจปกครองมาเล่นงานท่านต่างๆนานา ทำให้คนระดับรากหญ้าผู้ยากไร้เสียโอกาสขาดความช่วยเหลือที่ไม่มีจากภาครัฐแล้วยังปิดกั้นไม่ให้พระดีๆอย่างท่านได้ที่ช่วยเหลือสังคมได้กระทำได้ ถ้าท่านไม่ได้เป็นพระก็คงต้องไปอยู่มอนติเนโกรเช่นกัน ขอให้ดูค่าของคนที่ผลของงาน คนที่มีคุณค่าประชาชนก็เรียกหา ไม่ต้องใช้อำนาจและอาวุธมาคุ้มกันแต่ประชาชนจะรักและห่วงแหนเช่นที่ปวงชนชาวไทยมอบให้แด่พ่อหลวงเป็นตัวอย่างอันดีต่อผู้แสวงหาอำนาจ ขอให้ทำความดีอย่ามีแต่กระสันต์ ทำงานด้วยปากก็ยังดีถ้างานนั้นบรรลุผลได้ ดีกว่าการใช้ปากสร้างภาพทำอะไรไม่ได้เลยเช่นที่เห็นทุกวันนี้ ขึ้นต้นด้วยโยกย้ายก็ไม่แปลกถ้ามาจบลงตรงการเมืองเพราะโยกย้ายสิครับ
ตอนที่ 2 : ยุบยึด
ขึ้นต้นด้วนคำว่ายุบยึดก็อย่าพึ่งตกใจว่าไปเกี่ยวกับเผด็จการยึดอำนาจการบริหารบ้านเมือง แต่ก็ดูเสมือนว่าใช่เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทยจากเดิมคือ 7-3-2 มาเป็น 6-3-3 คือ ประถม 6 ปี มัธยมต้น 3 ปีและมัธยมปลาย 3 ปี ตอนนั้นภาครัฐก็ยกระดับการศึกษาที่เคยมีภาคบังคับคนไทยทุกคนต้องเรียนจบอย่างต่ำ ประถม 4 มาเป็น ประถม 6 ดังนั้นโรงประถมเดิมที่มีแค่ชั้น ป 4 จึงต้องเปิดสอนถึง ป 6 ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับโรงเรียนประถมที่มีป 4 อยู่แล้วจะสอนเด็กต่อถึงป 6 ก็ย่อมทำได้ เพราะมีนักเรียนพร้อมเลื่อนชั้นขึ้นมาโดยอัตโนมัติ มาติดที่โรงเรียนบางเลน (โรงเรียนวัดใหม่) ซึ่งมีสอนเฉพาะประถมปลายคือ ป 5 ถึง ป 7 เพราะเดิมนักเรียนต่างตำบลในอำเภอบางเลนหรืออำเภอใกล้เคียงเมื่อจบป 4 แล้ว คนที่รักอยากจะให้ลูกหลานได้เรียนต่อก็จะส่งมาเรียนที่โรงเรียนนี้เพราะเป็นโรงเรียนประถมปลายแห่งเดียวที่มีในตอนนั้น รวมๆเด็กจบประถมต้นจากหลายๆโรงเรียนไม่ว่าจาก บ้านประตูน้ำ บ้านบางไผ่นาถ บางภาษี รางกระทุ่ม วัดลานคา ไผ่หูช้าง ก็มารวมกันเป็นประชากรเด็กนักเรียนประถมปลายที่นี่ เป็นเพราะคนที่จะเรียนต่อหลังจบ ป 4 นั้นมีไม่ถึง 50 % ของจำนวนทั้งหมดที่จบประถมต้น และอาจจะน้อยกว่านั้นถ้าไม่บังคับให้ต้องเรียน ป 4 บางครอบครัวคนก็เห็นว่าไหนๆ ก็เรียนมาแล้วเลยให้เรียนต่อ หรือบางคนก็เรียนเพราะตามเพื่อนอยากมีเพื่อน บ้างก็หนีงานบ้านที่ต้องช่วยทำไร่ไถนาเลยมาเรียนต่อ วัยนั้นเด็กๆเองไม่มีสมองที่จะคิดถึงอนาคตทางการศึกษาอย่างชัดเจน ต้องให้ผุ้ปกครองเป็นผู้ขึดเข้มให้เดิน ดังนั้นหลายๆคนคงจำได้ดีว่ามีโรงเรียนบางเลนนี้อีกแห่งซึ่งปัจจุบันได้หายสาปสูญไปจากแผ่นที่โลกแล้ว ใช่ว่าจะเป็นเพราะสึนามิหรือแผ่นดินถล่ม แต่เป็นเพราะเผด็จการที่ผู้บริหารบ้านเมืองทางการศึกษาคิดเองทำเอง กลัวว่าจะไม่มีเด็กมาเรียนเพราะไม่มีเด็กประถมต้นของตัวเอง กลัวว่าเมื่อโรงเรียนปรถมอื่นๆเปิดสอนประถมปลายเองก็จะทำให้ไม่มีเด็ก นั่นก็ใช่เพียงครึ่งหนึ่งแต่ถ้าให้ดรงเรียนนี้เปิดสอน ป 1 ขึ้นมาภายใน 3-4 ปีก็จะมีนักเรียนมากกว่าดรงเรียนอื่นๆแน่นอน ที่กล้ายืนยันเพราะโรงเรียนนี้มีชื่อเสียงด้านการเรียนการสอนครูที่นี่จริงจังกับการทำหน้าที่สอน โดยเฉพาะครูใหญ่ตอนนั้นชื่อครูมาก อินทร์ใหญ่ ท่านประจำที่นี่จนวันสุดท้ายที่โรงเรียนถูกยุบ แต่วันนี้ท่านก็จากพวกเราไปอย่างไม่มีวันกลับเมื่อปีกว่ามานี่เอง ฝากไว้แต่ชื่อเสียง คุณงามความดีที่ท่านตั้งใจทำหน้าที่อบรมสั่งสอนเด็กให้เป็นคนดีรักการเรียนมุ่งหวังให้มีอนาคตทางการศึกษาด้วยชื่อเสียงที่โจษขานว่ามือไม้เรียว ตีเด็กเป็นแผลแตกเลือดซิบๆมาหลายคน จนเด็กกลัวแค่เงื้อมือก็แทบเป็นลมไปครงนั้น ถ้าเป็นปัจจุบันก็คงมีผุ้ปกครองฟ้องลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งเป็นรายวันทุกๆวันเป็นแน่แท้ ชื่อเสียงที่พูดถึงของครูท่านนี้ไม่ ใช่ว่าเพราะดุหรือตีเก่ง แต่เป็นที่ การสอนของท่านเด็กๆที่นี่ได้ภาษาอังกฤษจนไปอยู่อเมริกาและต่างประเทศมากมายหลายคน ท่านตั้งใจทุ่มเทอย่างมาก โดยเด็กที่รักดีก็ไม่ต้องไปเสียเงินให้กับสถาบันกวดวิชาหรือติวเตอร์ใดอีก ท่านใส่ให้เต็มๆหัวทุกวัน คนไหนใส่ไม่ลงแล้วท่านยังมีเมตตาเอาหนังสือนั้นตบหัวแรงๆให้จำจำไม่ใช่แค่เคาะอย่างหลวงพ่อคูณ แต่ทุกอย่างก็เป็นวิถีชีวิตความรัก ความเป็นศิษย์เป็นครู ซึ่งกันและกันของที่นี่ เมื่อยุบโรงเรียนก็โอนครูและนักเรียนให้มาสังกัดภายใต้การดูแลของโรงเรียนบางเลนวิทยา จนเด็กนักเรียนรุ่นสุดท้ายจบป.7 สถานที่เรียนคือตัวโรงเรียนอาคารเรียนห้องเรียนปัจจุบันเปิดเป็นโรงเรียนอนุบาลสอนเด็กก่อนเข้าประถม น้ำตาไหลรินของศิษย์และครูอาจารย์ด้วยความอาลัยกับโรงเรียนที่พวกเรารักต้องปิดลงทุกคนแยกย้ายกันไปตามทางที่มีหน้าที่ใหม่ที่ได้รับ พวกเราเพื่อนร่วมรุ่น บว 18 และพี่น้องรุ่นอื่นๆอีกมากมายก็มาร่วมมอบดอกไม้จันทร์ให้แก่ท่านเมื่อละสังขารด้วยความอาลัยเช่นกัน คำสอนสั่งก็จะจดจำทำและทำแต่สิ่งดีๆพลีเพื่อสังคมเท่าที่ทำได้ด้วยบริสุทธิ์ใจ
ตอนที่ 3 : บนล่างกลาง
จั่วหัวว่าบนล่างกลางไม่ใช่ไฮโลการพนันบนกระดาษแผ่นเดียวที่สามารถทายผลด้วยลูกเต๋าสามลูกครอบในถ้วยกระเบื้องแน่นอน ผมต้องขอบคุณพี่ไพรัชที่กล่าวถึงคำว่าตลาดล่าง คำนี้ชาวบางเลนที่ไม่ใช่รุ่นประหยัดไฟเบอร์5 แล้วคงไม่มีใครรู้จัก(อายุนำด้วยเลข 5) จนผมเองก็ลืมมันไปแล้วและเมื่อมีจุดประกายอย่างนี้แล้วไฉนเลยเราจะปล่อยให้มันหายไปจากประวัติศาสตร์บางเลน เรื่องเก่าของแท้เดิมทีกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วประมาณ40-50 ปีที่ผ่านมา บางเลนที่จะพูดถึงก็คืออำเภอบางเลนและหรือตำบลบางเลนด้วยก็ได้เพราะใช้ชื่อเดียวกันที่ตั้งอยู่ด้วยกัน ตัวที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ปากคลองบางเลนนั่นเอง และเมื่อมีสถานที่ราชการมีสังคมมีประชากรก็ต้องมีตลาดเพื่อเป็นที่ใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้กับผู้ที่ขาดแคลนปัจจัยสี่อาหารและอุปกรณ์ของใช้จิปาถะประจำวันรวมถึงเสื้อผ้ายารักษาโรค ที่ว่าสำหรับผู้ขาดแคลนนั้นก็เป็นจริงในยุคนั้น เพราะว่าบางครอบครัววันเดือนปีเขาไม่ต้องมาตลาดเลยก็มีไม่ใช่ว่ามีร้านเซเว่นอีเลเว่นอยู่ใกล้บ้านแบบปัจจุบัน แต่เป็นเพราะว่าเขาหาเองได้ข้าวก็จากนา ปลาในบ่อแม่น้ำลำคลอง พืชผักก็ปลูกไว้กินเองเรียกว่าไม่ต้องพึ่งตลาดสำหรับอาหารประจำวัน จะมีก็แต่ยาและเสื้อผ้ากับของใช้จำเป็นเท่านั้น แต่ใช่ว่าเขาจะต้องซื้อยากันเหมือนที่เห็นทุกวันนี้คนเจ็บคนป่วย มากมายรอจนล้นโรงพยาบาลแทบทุกแห่งขยายเพิ่มเตียงเพิ่มแพทย์ไม่ทันแล้วเงินกู้แปดแสนล้านเห็นก็เอาไปซื้ออุปกรณ์ผ่าตัดมากองไว้ตามสถานีอนามัยทั่วประเทศใช้งบไปหลายหมื่นล้านด้วยความคิดที่อยากให้มีโรงพยาบาลระดับตำบลทำการผ่าตัดได้ จึงเห็นว่าสถานีอนามัยที่มีอยู่ทุกตำบลนั้นเหมาะที่จะเอาอุปกรณ์ผ่าตัดไปใส่ไว้เผื่อว่าใครเจ็บป่วยมาจะได้เชิญสัปเหร่อที่วัดใกล้ๆมาผ่าให้ (อันนี้ผมคิดเอง) จะอย่างไรก็แล้วแต่เป็นอันว่าเงินกู้ยามประเทศยากไร้ได้ใช้หมดไปแล้วอุปกรณ์ราคาแพงก็มากองไว้แล้วคอมมิสชั่นก้อนใหญ่ที่ผู้บริหารมองเห็นเป็นเป้าหมายแรกก็จ่ายกันจบไปแล้วจนราคาทองคำขึ้นถึงบาทละ20,000บาทแล้วเพราะเอาเงินไปซื้อทองตุนกันไว้ จะฝากแบงค์ก็กลัวตรวจสอบซื้อทองไว้ตรวจยากขนย้ายก็ง่ายขายก็สะดวกตลาดทองจึงโตเร็วจะใช้เป็นดัชนีวัดคอร์รัปชั่นก็ยังได้ เอาราคาพระเครื่องเข้าไปใช้อีกก็ยังได้พระสมเด็จสวยๆก็ยี่สิบล้าน หลวงพ่อเงินก็ไปถึงสามสี่ล้านแล้วเล่นเอาบริษัทเมอร์ซิเดสเบนซ์ต้องมาดูงานหล่อโลหะเมืองไทยว่ามันทำอย่างไรทองเหลืองทองคำไม่กี่กรัมก็สามารถขายได้ราคาเท่ารถยนต์คันใหญ่ที่มันทำขาย ไม่ใช่ว่าลบหลู่ขอแค่เปรียบเทียบเล่าสู่กันฟังเพราะความนิยมความศรัทธาตีราคากันไม่ได้ผมเองก็มีหลวงพ่อเงินแขวนคออยุ่เหมือนกันและให้ใครมาตีราคาเท่าไรก็คงไม่ให้เพราะบางสิ่งบางอย่างเกิดมาเพื่อ เพื่อเฉพาะคนอธิบายไม่ได้ใช้เวลาอีกนานเอาไว้ตอนอื่นจะเอาเรื่องมหัศจรรย์ที่เป็นเรื่องจริงที่ผมเคยสัมผัสมาเล่าสุ่กันฟัง แต่ตอนนี้เลยมาไกลแล้วขอกลับไปสุ่เรื่องตลาดก่อนดีกว่าที่ผู้อ่านจะเบื่อเรื่องยาวๆ เป็นสรุปว่าบางครอบครัวโดยเฉพาะชาวไร่ชาวนาเขาไม่ต้องพึ่งตลาดมากนัก เพราะว่าเขาเองทำงานหนักมีร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไม่ไข้ เป็นเรื่องจริงผมเห็นเด็กตลาดโดนฝนหน่อยเดียวก็เป็นหวัดแล้ว ต้องนอนกินยารักษาไปหลายวัน แต่พวกเด็กลูกชาวนาตัวเล็กๆเขาเล่นเขาทำงานกันกลางฝนอย่างสนุกสนานแต่ก็ไม่เจ็บไข้ เรื่องเสื้อผ้าเขาก็ไม่แต่งสวยหรูอะไรเสื้อผ้าตัวเดียวก็ใส่ได้หลายวันเหม็นเหงื่อก็แค่ผึ่งแดดแรงๆสักพักก้เอามาใส่ได้แล้ว อีกอย่างด้วยรายได้จากการทำนานั้นน้อยนิด ต้องเสี่ยงต่อภัยจากภายนอกมากมายเช่นฝนแล้ง น้ำท่วม แมลงกัดทำลาย ราคาผลผลิตตกเมื่อผลิตได้มากเพราะไม่มีภัยใดๆมาทำลาย เป็นอันว่ามีโอกาสดีก็โดนกดราคา มีภัยมาก็โดนทำลายผลผลิตแล้วถ้าเป็นแบบนี้ ใครทำนาแล้วรวยได้ก็น่านับถือ ชาวนาจึงต้องอยุ่แบบไม่มีเงินไม่ใช้เงินทำตัวให้ได้เหมือนสิ่งมีชีวิตทั่วๆไปที่เสมือนไม่ใช่ชีวิตของคน ต้องอยู่ดำรงชีพด้วยธรรมชาติที่ให้มาและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ให้มีชีวิตสืบทอดเผ่าพันธ์ทำนาเป็นสันหลังของชาติตลอดไป ก็คงแค่เรียกแค่เปรียบว่าเป็นสันหลังของชาติ แต่หารูปธรรมใดๆได้ไม่ เพราะคนเมื่อปวดหลังยังมีเยียวยาบีบนวดให้ผ่อนคลาย แต่สันหลังนี้เป็นเหมือนคันไถที่ถูกเขาจับเขาลากด้วยแรงควายที่มาเป็นผู้นำในการลากไถ ให้ใบมีดของคันไถได้ทำหน้าที่ผลิกแผ่นดินเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก เมื่อเสร็จสิ้นก็โยนคันไถไว้ข้างโรงนาจะมาจับอีกทีก็ปีหน้าคราวหน้าที่มาหาเสียงขอร้องให้ไปเลือกตั้ง ขอให้ผู้ทำนาก็คงต้องเทียบเปรียบเอาเองว่าจะเลือกควายตัวใดมาไถนาจะได้ไม่ผิดหวัง และได้ผลผลิตที่งอกงามต่อไร่นา ดังนั้นตลาดก็จำเป็นสำหรับคนที่ยังมีกิเลสสูงนั่นเอง กิเลสนี้คือความอยากความต้องการ แม้นพระภิกษุสงฆ์ยังเลือกบิณฑบาตร์ในเขตตลาดเลยครับโยมเพราะอาหารก็รสชาดก็อร่อยกว่าที่ได้มาจากบ้านชาวนา เอาล่ะนานแล้วรู้หรือยังตลาดบนตลาดล่างตลาดกลางอยุ่ไหน? เอาทีละอย่างครับ เมื่อรู้ที่ตั้งเดิมของตัวที่ว่าการอำเภอแล้วทีนี้เราก็มาจัดเขตกันเลย ตัวอำเภอตั้งอยุ่ปากคลองบางเลนฝั่งทิศใต้ ส่วนปากคลองบางเลนฝั่งทิศเหนือนั้นก็เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวจีนเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวเป็นเรือนยาวติดกันทอดไปตามริมฝั่งของแม่น้ำ ซึ่งเจ้าของที่ดินรวมถึงตัวสิ่งก่อสร้างบริเวณนั้นเป็นของคหบดีเฒ่าแก่ผู้มีทรัพย์ซึ่งเป็นบิดาของเฮียปอ(ผมลืมชื่อบิดาของท่านไปแล้ว,ไม่ใช่ปอประตูน้ำนะ) เฮียปอเจ้าของร้านขายน้ำมันที่ตลาดบางเลนและมีธุรกิจร้านค้าอีกหลายที่ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่จริง ซึ่งตลาดบนนี้ก็มีร้านค้าขายกันนับยี่สิบร้านได้แต่ก็เล็กกว่าตลาดล่าง คำว่าบนก็คือเหนือนั่นเอง ส่วนล่างก็ใต้เช่นเดียวกับที่วงไฮโลใช้เรียกกันเพราะมีพื้นฐานบัญญัติคำศัพท์มาจากที่เดียวกัน ตลาดล่างก็คือตลาดที่อยู่ริมแม่น้ำท่าจีนทิศใต้ของที่ตั้งตัวที่ว่าการอำเภอเดิม แต่ปัจจุบันไม่มีตัวสำนักงานอำเภอให้เป็นที่หมายแล้วจะใช้ว่าที่อยุ่ฝั่งใต้ของปากคลองบางเลนก็ได้ ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ให้เห็นถึงแม้นจะเหลือร้านค้าน้อยลงเพราะออกไปค้าขายกันที่อื่นๆตลาดใหม่แต่ก็ยังใช้เป็นที่พักอาศัยของชาวบางเลนดั่งเดิมอีกหลายครอบครัว ถ้าจะไม่กล่าวถึงเจ้าของตลาดก็จะไม่ได้เข้าถึงประวัติศาสตร์อันแท้จริง ตลาดล่างนี้ผู้สร้างคือบิดาของนายแป๊ว ซึ่งปัจจุบันมีหลานคือลูกนายแป๊ว คือนายปื้ดกับนายเล็กเจ้าของกิจการวังค้างคาวที่บางเลนปัจจุบัน ผมก็ต้องขออนุญาตจากลูกหลานท่านที่เอ่ยนาม ณ. ที่นี้ รวมทั้งเฮียปอเช่นกันผมขอกราบขอโทษถ้าเป็นการล่วงละเมิดท่านและครอบครัวเมื่อเดือนที่แล้วพบท่านก็ยังเห็นท่านสุขภาพแข็งแรงและความจำท่านดีมากก็ขอถือโอกาสปีใหม่นี้ฝากอวยพรให้ท่านและครอบครัวมีแต่ความสุขตลอดไป ตลาดบนปัจจุบันนี้เหลือแต่ที่ดินเปล่าส่วนตลาดล่างยังมีการบูรณะและซ่อมบำรุงให้อยู่สภาพที่ใช้พักอาศัยได้ ข้อแตกต่างที่น่าวิเคราะห์ว่าทำไมตลาดล่างยังยั้งยืนถาวรส่วนตลาดบนผุพังหายสาปสูญไปได้ ทั้งๆที่ต้นกำเนิดก็เกิดจากคหบดีคือผู้มีเงินในยุคนั้นสร้างขึ้นมา พอเล่าได้ว่าตลาดบนเจ้าของเป็นผู้ขยันทำมาหากินประหยัดมัธยัตย์จึงร่ำรวยมีเงินอยู่ถึงลูกหลานทุกวันนี้ เรียกว่ามีตลาดให้เช่าไม่ขาย เมื่อผู้เช่าค้าขายร่ำรวยก็ขยับขยายไปหาที่อยุ่ที่เป็นของตัวเองตามฉบับผู้สร้างอนาคตทั่วๆไปไม่ซื้อร้านค้าก็ปลูกสร้างบ้านเอง ทำกันแบบนี้เรื่อยๆตลาดก็วายลงเจ้าของจึงไม่มีความจำเป็นต้องซ่อมแซมเพื่อใช้ต่อและก็ไม่เดือดร้อนเพราะรวยอยุ่แล้วนั่นเอง ส่วนตลาดล่างเจ้าของชอบการเล่นพนันจึงทยอยขายไปเรื่อยๆทีละห้องสองห้องจนหมดดังนั้นกรรมสิทธิ์จึงเป็นของผู้ที่ทำการค้าขายเป็นเจ้าของเองจึงดุแลรักษาและฝังรากอยุ่ตลอดมา ก็คงเข้าใจประวัติของตลาดบนและล่างไปแล้ว ต่อไปคือตลาดกลางอยุ่ที่ไหน ถ้าไม่บอกก็ไม่มีใครทราบเพราะชื่อนี้ ผมตั้งให้เองในวันนี้ขณะที่เขียนเรื่องนี้ เพราะว่ามันเป็นกลางจริงๆ กลางที่หนึ่งคืออยู่กลางระหว่างบนกับล่างคือบริเวณที่ตั้งที่ว่าการอำเภอหลังเก่านั่นเอง กลางที่สองคือที่ดินที่ตั้งเป็นที่ราชพัสดุของรัฐไม่มีเอกชนใดเป็นเจ้าของ กลางที่สามคือสร้างด้วยงบจัดหาของเทศบาลเพื่อให้เป้นตลาดชุมชน ดังนี้ผมจึงขอเรียกให้เป็นที่เข้าใจกันเลยว่าเป็นตลาดกลาง แต่ตลาดที่บางเลนในปัจจุบันใช่ว่ามีเพียงแค่นี้ ยังมีพื้นที่ใหม่ที่สร้างเป็นตึกสูง 3-4 ชั้นรวมกลุ่มอาคารพาณิชย์อีกหลายที่ บริเวณรอบนอกของเขตตลาดเก่าที่กล่าวมาแล้วถ้าสนใจคงต้องติดตามในตอนต่อไป
ตอนที่ 4 : ขนมหวาน
วันนี้เป็นวันก่อนคริสต์มาสและคืนหนี้ชาวคริสต์ทั้งหลายก้จะสนุกสนานกับการหลอกเด็ก แต่งซานตาคอสมามอบของขวัญ แย่จริงจะให้ของขวัญทั้งทียังต้องสวมรอยยกความดีให้ซานต้า เพื่อเพิ่มศรัทธาหรือว่าเพิ่มความสนุกในเกมส์แบบทั่วๆไป คิดๆเปรียบเทียบก็คงเหมือนๆกับที่มีชาวพุทธหลายคนพยายามสร้างฟ้าสร้างทะเลเพื่อเสริมบารมีให้แก่สิ่งที่ตนเคารพนับถือจนบางครั้งเป็นเรื่องเกินความจริงที่วิทยาศาสตร์จะพิสูจน์ได้ จะยังไม่ขอกล่าวถึงว่าคืออะไรเพราะไม่ใช่เรื่องที่จะเขียนในหัวข้อวันนี้ ขนมหวานที่จะพูดถึงก็ขนมจริงๆและก็หวานจริงๆ หวานจากน้ำตาลตะโหนด(ต้นตาล) น้ำตาลมะพร้าว และน้ำตาลจากอ้อย เป็นน้ำตาลที่มีขายอยู่ตามตลาดทั่วไปในยุคนั้น คำว่าน้ำตาลเดิมทีพอประมาณเอาจากรากศัพท์โดยไม่ต้องปรึกษาราชบัณฑิตก็พอจับความได้ว่า น้ำที่มาจากต้นตาล อันนี้ก็เป็นเรื่องโชคดีที่คุณตาผมเองเป็นคนทำน้ำตาลจากต้นตาลเป็นอาชีพ ดังนั้นวันนี้หลานคุณตามืออาชีพจะขอเล่าเรื่องให้ฟังจากภาพที่เห็นเมื่อยามเป็นเด็กก่อนวัยเข้าเรียน คือช่วงอายุ 4-6 ขวบที่คุณแม่ผมพาไปเยี่ยมท่าน ผมไม่ได้มีสมุดบันทึก ไม่ได้ซักถามเพื่อเก็บความรู้นี้มาก่อนเพราะช่วงนั้นก็แค่เป็นเด็กเล็กๆวิ่งเล่นสนุกสนาน เมื่อเหนื่อยมาก็มาขโมยเอานิ้วจิ้มน้ำตาลที่กวนแล้วเทลงเบ้าเพื่อรอไว้ให้เย็นและแข็งตัวเอาไปกินอย่างสนุกเช่นกัน ครั้นจะกินที่เป็นก้อนแล้วก็ไม่ทันสักทีเพราะว่าเมื่อเย็นและแข็งได้ที่ คุณตาจะรีบเก็บใส่ปีบทันที มิฉะนั้นบรรดาหลานๆจากลูกๆของลูกสาวท่านคือลูกคุณป้าและแม่ผมรวมกันแล้วก็เกือบสิบคน และหลานๆพวกนี้ก็ตัวขโมยน้ำตาลเช่นกันเหมือนฝูงมด ดังนั้นคุณตาท่านจะเฝ้าและเก็บอย่างดีจนนำไปขายที่ตลาด ได้เงินมาก็ยังลำบากใจที่ต้องซ่อนหลานๆอีก ธนาคารยุคนั้นยังไม่มี หรือว่ามีผมก็ไม่ทราบได้ แต่รู้คือว่าคุณตาผมท่านรู้จักแต่ท้องนากับไปเก็บน้ำตาลแล้วกลับมาทำน้ำตาลที่บ้าน ที่อื่นๆท่านไม่เคยไปไหน เพราะใช้เดินเท้าอย่างเดียวแม้นระยะทางหลายๆกิโลก็เดินอย่างเดียวไม่มีรถไม่มีเรือ ส่วนเรื่องการตลาดก็ให้คุณยายเป็นคนนำไปขาย โดยใช้เรือพายไปขายที่ตลาดขวัญ (จ.นนท์)ทั้งๆที่ทราบกันว่าคุณยายคิดเลขไม่ค่อยเป็น แต่ก็ยังขายน้ำตาลและผลไม้ต่างๆจากสวนเช่น ทุเรียน มะม่วง มะปราง ชมพู่ ขนุน มะพร้าว ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมพอจำได้จากตอนเด็กๆเช่นกันว่าในสวนมีอะไรบ้าง (คุณตาเป็นคนจังหวัดนนท์) ท่านขายและเก็บเงินได้มากจนซื้อสวนซื้อนาไว้ได้หลายแปลง หลายขนัด การทำน้ำตาลเริ่มจากการทำพะองค์(ไม่แนใช่ว่าสะกดถูกหรือป่าว) คือไม้ไผ่ที่มีกิ่งสั้นๆและแข็งแรง ไปผูกไว้กับต้นตาล(ต้นตาลตัวผู้) เพื่อใช้เหยียบเวลาปีนขึ้นไปสู่ยอดตาล ดังนั้นพะองค์จะต้องผูกต่อกันไปจากโคนต้นตาลจนถึงยอดตาล ถ้าต้นตาลสูงก็ต้องต่อลำไม้ไผ่ลำใหม่ บางต้นสูงถึง 3-4 ลำต้นไผ่ก็มี ที่เลือกผูกเฉพาะต้นตาลตัวผู้เพราะว่าตาลตัวเมียจะมีลูกและลูกตาลก็สามารถนำมากินได้ตอนยังอ่อนๆ ถ้าแก่แล้วก็ปล่อยให้สุกเอามายีแล้วกรองแต่เอาน้ำที่ผสมเนื้อมา ใส่ถุงผ้าเพื่อไล่น้ำออกเหลือแต่เนื้อลูกตาลนำไปทำขนมตาลได้อีก ส่วนตาลตัวผู้ถ้าดูที่ต้นก็ไม่มีอะไรแสดงบอกว่าเป็นเพศตัวผู้หรือตัวเมีย เหมือนพวกแอบจิตสมัยนี้ดูไม่ออกเช่นกัน จึงน่าเอาคำว่าต้นตาลหรือตาลมาเรียกแทนตุ๊ดแต๋วคงจะดีเหมือนกัน ดังนั้นให้ดูที่ยอดตาล คอต้นตาลตัวเมียจะมีทลายคือพวงลูกตาลอยู่รายรอบ ส่วนตัวผู้ ไม่มีลูกแต่จะมีงวงยาวประมาณหนึ่งศอกมีจำนวนงวงหลายๆงวง ลำงวงก็ใหญ่ประมาณ 2-3 นิ้ว ที่งวงนี้จริงๆคือกะเปาะเกสรตัวผู้แต่ก็ไม่เข้าใจว่าต้นตาลนั้นต้องการ การผสมเกสรหรือไม่ถึงจะติดลูก เพราะเห็นติดลูกดกมากมายชนิดเบียดกันแน่นคอต้น เวลาทำน้ำตาลก็จะเลือกงวงที่ไม่อ่อนไม่แก่เอาพอดีๆตามที่คุณตาผมจะเลือกนั้นเอง โดยใช้มีดคมๆปาดปลายงวงแล้วใช้กระบอกไม้ไผ่ที่ผูกเชือกแขวนรอรองรับน้ำที่หยดออกมาจากงวงมาสะสมไว้ในกระบอกไม้ไผ่ ต้นตาลหนึ่งต้นก็แขวนกระบอกได้หลายจุดหลายกระบอก เช่นเดียวกับชาวสวนยางกรีดยางนั่นแหละต่างกันที่ยางได้แค่กระลาเดียว คุณตาผมโดยน้ำตาลทำเป็นกิจวัตรคือ เย็นมาแขวนกระบอก เช้าก็มาเก็บ บ่ายกวนน้ำตาล วนไปเช่นนี้ตลอดฤดูหนาวถึงร้อน พอถึงช่วงหน้าฝนก็จะงดทำตาลเปลี่ยนไปทำนาแทน ที่ไม่ทำเพราะน้ำฝนจะลงไปผสม และมีลมแรงกระบอกคงไม่อยู่กับที่ที่ต้องการ อีกอย่างก้ไม่มีเวลา ต้องไปดูนาดูสวน ในกระบอกไม้ไผ่นั้นเขาจะใส่เปลือกไม้ ชนิดหนึ่ง(หวงวิชา)ไว้ด้วยเพื่อกันน้ำตาลบูดซะก่อนจะมาถึงเตาเคี่ยวเพื่อทำน้ำตาล เปลือกไม้นี้ก็จำชื่อไม่ได้แล้วเช่นกันว่าเป็นไม้อะไรแต่คงไม่ใช้สารกันบูดแน่นอน เมื่อรวบรวมน้ำตาลมาหลายๆกระบอกแต่ละวันก็จะเอามารวมกันในกะทะใบใหญ่แล้วเคี่ยว คือตั้งบนไฟกวนจนน้ำแห้งจนเหลือเป็นของเหลวข้น แล้วไปเทลงเบ้า เบ้าคือหลุมบนดินวางรองด้วยผ้าขาวกันเปลื้อนและกันติดหรือเป็นถ้วยกระเบื้องก็ได้ใช้ผ้าขาวรองไว้อีกชั้นหนึ่งเช่นกัน กว่าจะได้น้ำตาลแต่ละกิโลนั้นเหนื่อยแสนสาหัสและเสี่ยงมากมายยิ่งช่วงขึ้นยอดตาลนั้นสุดๆเลยตกลงมาก็ตาย เอาละได้น้ำตาลมาแล้วไปดูขนมหวานที่บางเลนกันต่อดีกว่า ตอนสมัยเด็กมีร้านขนมหวานประจำอยู่ร้านเดียว พอจำได้ว่าชื้อเจ้แป๊ะฉ่าย ที่แปลว่าผักกาด (ขอโทษจำชื่อคนอื่นไม่ได้)มีร้านทำขนมอยู่ในตลาดแต่น้องชายของเจ้แป๊ะฉ่ายจะใส่รถเขนออกมาขายที่หน้าอำเภอซึ่งเป็นตลาดตอนเย็นถึงช่วงค่ำๆ ในตอนนั้น มีขนมชั้น ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ข้าวเหนียวตัด เปียกปูน ตะโก้ และอีกหลายอย่างทุกอย่างอร่อยหมด รับรองว่าอร่อยจริงๆจนถึงปัจจุบันยังหาที่ใดเทียบความอร่อยไม่ได้เลย แต่ที่กินประจำคือขนมชั้นเพราะแบ่งกันง่ายมีพี่น้องหลายคนจึงกินแค่พอกันลงแดงตาย ขนมชั้นนั้นมีสีขาวแดงชมพูสลับเป้นชั้นๆ ลอกออกเป็นแผ่นได้ง่ายเพราะทาน้ำมันไว้ นอกจากขนมหวานร้านนี้ ก็พอมีขายกันประปรายในบางครั้งบางวันเช่นขนมบัวลอยไข่หวาน ที่ขึ้นชื่ออีกอย่างก็คือขนมเปี๊ยะไส้ดำและไส้ถั่ว ไส้ฟักของร้านกิมชุ้น นั่นก็เหมาะเป็นของฝากหรือขนมติดบ้านไว้กินยามต้องการ วันนี้ไปบางเลนอีกทีมองหาร้านขนมที่กล่าวมาทั้งสองร้านไม่ได้แล้วเข้าใจว่าเจ้าของหรือ คนทำ คงแก่หรือมีอื่นใดที่ไม่สามารถทำขนมต่อไปได้ และลูกหลานก็เปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นกันหมด แต่ทุกอย่างก็ย่อมมีตัวตายตัวแทนกันเสมอ วันนี้มีร้านขนมที่ขึ้นชื่อของบางเลน แต่ก็เป็นขนมในตระกูลขนมเปี๊ยะด้วยกันทั้งคู่ มีร้านคุณสุกัลยา และร้านครูสมทรง ร้านสุกัลยาจะเป็นเรือนไม้เล็กๆปลูกติดดินข้างถนนตรงบริเวณที่เคยเป็นอู่หรือป้ายรถเมล์บางเลนนั่นเอง มีขนมเปี๊ยะไส้ดำ ขนมเปี๊ยะหลายรูปแบบขนาดเล็กขนาดใหญ่ เป็น OTOP ของบางเลน รสชาดขึ้นชื่อ ไปหลายจังหวัด ร้านครูสมทรงนั้นเป็นร้านใหญ่ตึกหลายคูหา (3-4 ห้อง)อยู่ตรงข้าม(เยี้องๆ)ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน มีการผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม จำหน่ายเป็นของฝาก ของชำร่วย เน้นเป็นขนมเปี๊ยะแป้งขาวดูสวยงาม บรรจุกล่องและห่อดูสวยงามมีหลายรูปแบบเช่นกัน และประมาณว่าจะมียอดจำหน่ายสูงกว่าร้านอื่นๆ ที่เล่ามาทั้งหมดก็แค่อยากบอกว่าปัจจุบันมีขนมที่ขึ้นชื่อประจำอำเภอบางเลนก็คือขนมเปี๊ยะของทั้งสองร้านนี่เอง ถึงตรงนี้ก็ต้องลองไปชิมลองไปกินกันเองจะดีกว่าจะได้รู้รสด้วยลิ้นของเราเองใช้ลิ้นคนอื่นคงไม่อร่อยเป็นแน่แท้ ตามตำราสุภาษิตที่บิดเบือนมาได้ว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าลิ้นเราสัมผัส ก็คงต้องนำมาใช้กับขนมหวานที่บางเลนล่ะครับ